พิพิธภัณฑ์ช้างสุรินทร์
(Surin Elephant Museum)
ณ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง หมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก จังหวัดสุรินทร์
พิพิธภัณฑ์ช้างสุรินทร์ เสร็จสมบูรณ์แล้ว
ณ ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง บนพื้นที่ 500 ไร่ เป็นสถานที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมวิถีความเป็นอยู่ ความผูกพันระหว่างคนและช้างของคนในชุมชน รวมทั้งประเพณี และวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมอย่างใกล้ชิด ของชาวบ้าน หมู่บ้านตากลาง แต่ละครัวเรือนจะมีช้างที่เลี้ยงไว้อาศัยอยู่รวมกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จนช้างที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ก่อให้เกิดสายใยความผูกพันระหว่างคนกับช้าง ปัจจุบันจึงได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก
พิพิธภัณฑ์ช้างสุรินทร์
(Surin Elephant Museum)
ณ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง หมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก จังหวัดสุรินทร์
ส่วนสุดท้าย
ในโครงการโลกของช้าง
พิพิธภัณฑ์ช้างสุรินทร์
เป็นส่วนสุดท้ายในโครงการโลกของช้าง
ได้ทุ่มงบประมาณในการก่อสร้างกว่า 455 ล้านบาท
เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สะท้อนความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างคนกับช้างในวิถีชีวิตของชาวกูย ที่สำคัญยังเป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างที่ใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย
ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง จ.สุรินทร์
เป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้าง
ศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลาง และจากหมู่บ้านอื่น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 200 ตัว
ซึ่งจัดให้เป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันของคนกับช้างโดยมีทั้งบ้าน เรือนของชาวบ้านหรือที่เรียกว่า ควานช้าง และมีที่อยู่ของช้างอยู่ทั่วบริเวณ ไม่ว่าจะเดินไปบริเวณไหนก็จะพบเห็นช้างอยู่ในบริเวณนั้นทุกที่ ซึ่งช้างแต่ละตัวก็เป็นช้างนิสัยแสนรู้น่ารัก ไม่ดุร้าย และสามารถเข้ากับคนได้ง่าย ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันได้อย่างมีความสุข
ภายในโครงการประกอบด้วย Brick Tower หอคอยอิฐโบราณขนาดใหญ่ ที่ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกผู้ออกแบบต้องการให้เป็นทั้งจุดสำหรับชมวิว แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่สำหรับหลบภัยในกรณีฉุกเฉิน ในส่วนของ Elephant Stadium สถาปนิกเปรียบว่าเป็นการสร้างสนามเด็กเล่นให้กับช้าง โดยพื้นที่ตรงกลางจะเป็นลานกว้างเพื่อเป็นลานแสดงกิจกรรมต่าง ๆ ของช้าง ล้อมรอบด้วยหลังคาจั่ว ต้นแบบจากบ้านของชาวกูยที่มีความผูกพันกับช้างมาเป็นเวลานาน
Elephant Museum พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ลักษณะคล้ายเขาวงกต สร้างจากอิฐแดง ด้วยความสูงที่ทั้งคน และช้างสามารถอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้ โดยการก่ออิฐโบราณให้มีการเว้าโค้ง ไล่ระดับความสูงเพื่อให้เกิดการถ่ายเทของอากาศ ลม และเสียง ตามหลักงานวิจัยการใช้ภาษาเสียงใน Sound Brick ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาสามารถแยกแยะความแตกต่างของเสียงในพื้นที่ได้ นอกจากนี้การมีต้นไม้ระหว่างทางเดินยังช่วยลดทอนการสะท้อนของเสียงในพื้นที่ และให้ร่มเงาเป็นระยะ ๆ อีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ช้างสุรินทร์ (Surin Elephant Museum) จะได้พบกับแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับช้างในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งหมด 4 โซน ได้แก่
โซนที่ 1 ช้างหลวง ช้างบ้าน ช้างป้า นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับช้างในประวัติศาสตร์ไทย (ช้างหลวง ช้างศึก ช้างเผือก) ช้างป่า ช้างบ้าน วิถีชีวิตคนกับช้าง
โซนที่ 2 เรื่องน่ารู้ของช้าง นำเสนอเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับช้าง ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เอเชียและสายพันธุ์แอฟริกา
โซนที่ 3 ช้างดึกดำบรรพ์ ต้อนรับเข้าสู่ยุคดึกดำบรรพ์ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของยุคก่อนประวัติศาสตร์
โซนที่ 4 แกลเลอรีช้าง พบกับงานศิลป์เกี่ยวกับช้างที่งดงาม แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ แกลเลอรี A จัดแสดงภาพฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมไปถึงภาพจากศิลปินที่มีชื่อเสียง นักธุรกิจ ศิลปินท้องถิ่นของจังหวัดสุรินทร์และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกส่วนคือ แกลเลอรี B ห้องจัดแสดงผลงานและจัดกิจกรรมหมุนเวียนเพื่อรองรับผลงานศิลปะและการจัดประชุมต่างๆ